“ไวรัสซิกา ใกล้ตัวกว่าที่คิด”
กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าไวรัสซิกาสามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย และมีการพบรอยโรคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 แต่มีการพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อปี พ.ศ.2555 โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ
ในช่วงปี 2558 ไวรัสซิก้าได้ระบาดหนักในแถบลาตินอเมริกาจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและยังรุนแรงอย่างต่อเนื่องทำให้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHOประกาศให้การระบาดของ “ไวรัสซิกา” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ไวรัสซิก้า หรือ ไข้ซิกา เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ
การติดต่อไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยตรงจากการสัมผัส ไอ จาม แต่เกิดจากการถูกยุงที่มีเชื้อและเป็นพาหะกัด นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ทางเลือด หรือแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ และมีรายงานว่าเชื้อไวรัสสามารถผ่านทางน้ำนมและทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
ซึ่งอาการที่ปรากฎจะคล้ายคลึงกับอาการของไข้เลือดออก ได้แก่ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ไข้ขึ้นสูง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวและปวดหัว หากปล่อยไว้ อาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติได้ โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้ใน 3 วันนับแต่แสดงอาการ
หากพบในหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีสมองเล็กกว่าปกติ แคระแกร็น พัฒนาการช้า โรคไวรัสซิก้าก็ยังเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือวิธีการรักษาที่แน่ชัด ทำได้เพียงรักษาตามอาการเช่นเดียวกับการรักษาโรคไวรัสอื่น ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนมา ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทานยาตามแพทย์สั่ง
ข้อควรระวัง เนื่องจากอาจจะแยกโรคได้ยากในช่วงต้น ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากมีตัวยาที่รบกวนการทำงานของเกร็ดเลือดและเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่ายนอกจากนี้ยังควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของโรคไวรัสซิก้าคือพยายามหลี่กเลี่ยง ยุงลายที่เป็นพาหะของโรค และควรทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของไวรัสหลายชนิด อย่าเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงหรือการระบาดของโรคนี้ โดยเฉพาะสตรีที่กำลังตั้งครรภ์